สวนน้ำ Stand Alone ขนาดเล็กที่อยู่ตามเมืองที่ผู้คนอยู่อาศัย ไม่มีนักท่องเที่ยวจากภายนอกมากนัก ควรลงทุนอย่างไรให้คุ้มค่า ออกแบบอย่างไรให้เหมาะสมและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน มาดูกันครับ

สวัสดีครับวันนี้เราก็จะมาคุยกันต่อจากคราวที่แล้วนะครับ ครั้งที่แล้วเราคุยกันเรื่องส่วนน้ำแบบ stand alone แต่ว่าที่เราคุยกันครั้งที่แล้วส่วนใหญ่จะเป็นสวนน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือสวนน้ำที่เหมาะกับเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ อย่างภูเก็ต พัทยา ต้องการนักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ กับกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง ส่วนวันนี้เรื่องที่เราจะคุยกันคือเราจะเจาะลึกลงไปอีกหน่อยก็คือสวนน้ำขนาดเล็ก ที่เหมาะกับเมืองขนาดเล็ก ถ้าเรียกเป็นภาษาวิชาการก็คือเมืองที่เป็น Residence เป็นหลัก หมายถึงเมืองที่ไม่ได้มีนักท่องเที่ยวมาก เป็นเมืองที่ประชาชนอยู่ทั่วๆ ไป คิดง่ายๆ ก็คือทุกจังหวัดยกเว้นเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ อย่าง ภูเก็ต พัทยา หรืออาจจะรวมเชียงใหม่ด้วย แต่จริงๆเชียงใหม่ก็ยังค่อนข้างเป็นเมือง Residence นะครับ เพราะฉะนั้นเมืองท่องเที่ยวจริงๆ ที่เหมาะกับการสร้างสวนน้ำขนาดใหญ่ในเมืองไทย ก็จะมีแค่พัทยา ภูเก็ต แล้วก็อาจจะมีหัวหินอีกสักที่นึง ก็จะเป็น 3 ที่เท่านั้นนะครับ ส่วนที่เหลือในประเทศไทยทั้งหมดเนี่ย จะมีลักษณะความเป็น Residence ส่วนใหญ่ คือคนส่วนใหญ่เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนั้นๆ อาจจะมีการท่องเที่ยวบ้างในช่วง High Season ของภาคเหนืออะไรอย่างนี้ครับ การออกแบบสวนน้ำสำหรับเมืองขนาดเล็กเมืองที่มีประชากรอยู่เยอะๆ ก็จะเป็นอีกศาสตร์หนึ่งเพราะอย่าลืมนะครับว่าการลงทุนของสวนน้ำขนาดเล็ก จะต่างกับสวนน้ำที่ออกแบบไว้สำหรับรับนักท่องเที่ยวอย่างเดียว
ทีนี้เรามาลองดูกันนะครับ เมืองขนาดเล็กอย่างที่บอกว่าจะเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยไม่หนาแน่นนัก ไม่ได้มีความเป็นเมืองมากนัก แต่มีประชากรอาศัยอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นเมืองขนาดเล็กจะมีข้อจำกัดในจำนวนของนักท่องเที่ยว คือคนที่เขาจะมาเที่ยวในที่ของเราก็คือคนที่เขาอาศัยอยู่ในจังหวัดของเรา เขาจะมีข้อจำกัดในการท่องเที่ยวก็คือ
1. เขามาเที่ยวทุกวันไม่ได้เพราะเขาต้องเรียนหนังสือ ต้องทำงานหรืออะไรก็แล้วแต่ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ทำให้เขาไม่สามารถมาท่องเที่ยวในที่ของเราได้


2. ข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ หมายความว่าเขาไม่สามารถจ่ายค่าตั๋วราคา 1,000 บาท 2,000 บาท 3,000 บาทได้ เพราะเขาไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวที่ยอมนั่งเครื่องบินมาครึ่งโลกเพื่อมาเที่ยวในประเทศไทย ยอมจ่ายอาหารแต่ละมื้อแบบแพงๆ เพราะเขาก็ใช้ชีวิตอยู่ แค่เดินออกจากประตูสวนน้ำเขาก็สามารถที่จะไปกินข้าวในราคาที่ถูกกว่าที่เราขายอยู่ภายในได้ตั้งเยอะ งั้นเขาก็จะไม่เลือกอาหารที่ราคาแพงเกินไป
3. เนื่องจากเขาเป็นนักท่องเที่ยวที่อาศัยอยู่ภายในจังหวัด เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะมาท่องเที่ยวในสวนน้ำของเราทุกวันหรือทุกสัปดาห์หรือแม้แต่ทุกเดือน เพราะฉะนั้น Return Rate ของเราก็จะต่ำกว่า หมายถึงคนคนเดิมจะไม่สามารถมาเที่ยวซ้ำๆ ตลอดได้

ทีนี้จากประสบการณ์ในการออกแบบของเรา เรารู้ว่าปัญหาของเมืองที่ไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวก็จะเป็นประมาณนี้ ทีนี้ก็ต้องออกแบบให้มันรองรับกับเมืองที่เป็นเมืองคนอยู่ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงในการออกแบบ จะมีดังนี้
- เราไม่สามารถที่จะลงทุนด้วยงบประมาณเป็นพันล้านได้ จากประสบการณ์ เมือง Residence ขนาดใหญ่ๆ มีประชากรสักล้านคนขึ้นไป ถ้าจะเอาการลงทุนที่สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลา 3-5 ปี เต็มที่เลยประมาณไม่เกินสัก 100 ล้าน ถ้าเกินกว่านี้จะลำบากแล้ว ด้วยเหตุผล 3 ข้อได้ที่บอกไปแล้วข้างต้น ซึ่งเราต้องคำนวณตามประชากร คำนวณตาม Feasibility ที่เราคิดไว้ ตัวเลขที่เป็นไปได้สูงสุดเลยที่เคยคิดได้ คือไม่เกิน 200 ล้าน ถ้าเกินกว่านี้โอกาสที่จะดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดก็จะยาก ถ้าสามารถลงทุนให้น้อยลงกว่านี้ได้ก็จะดี แต่ว่าในความน้อยก็จะต้องมีความสมบูรณ์ของมัน
- มันท่องเที่ยวขนาดเล็กหรือว่าเมือง Residence พอเราโฟกัสที่นักท่องเที่ยวไทย แน่นอนเราไม่สามารถทำให้ลูกค้ามาท่องเที่ยวทุกวันได้ การกลับมาเที่ยวซ้ำของคนเดิมก็จะต่ำ เพราะฉะนั้นเมืองท่องเที่ยวแบบนี้ก็จะมีการเก็บเงินเป็น Season เช่น ช่วงปิดเทอมคนจะเยอะ ช่วงวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์คนจะเยอะ แสดงว่าการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การบริหารจัดการเวลา ค่าน้ำ ค่าไฟ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะเป็นแบบกระจุกตัว หมายความว่าช่วงที่เราเก็บเงินได้ เราต้องได้เงินอย่างเต็มที่ ให้เพียงพอที่จะอยู่ทั้งปี ส่วนช่องที่เก็บเงินไม่ได้แล้วก็ต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้เยอะมากที่สุด
- เนื่องจากเราไม่ได้เป็น High Season ตลอด ทำยังไงให้วันจันทร์ถึงศุกร์เราจะมีคนมาเที่ยวได้ ตรงนี้เราก็จะต้องมีการบริหารจัดการ เช่น เราอาจจะต้องมีทัวร์ มีนักเรียนมาเที่ยว อาจจะต้องมีตั๋วลูกค้าประจำ เช่น ตั๋วรายปี ประมาณนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถมาเที่ยวได้ในวันปกติด้วย


แต่ว่าในข้อจำกัดทั้งหมดมีข้อดีซ่อนอยู่ข้อหนึ่ง คือเนื่องจากเป็นเมืองที่มีคนอยู่ แสดงว่าลูกค้าของเราอยู่ไกลจากเราไม่เกิน 40-50 กิโลเมตร เอาจริงๆ คือสวนน้ำพวกนี้เราสามารถเปิดตอนกลางคืนได้ เช่น เปิดเป็นสวนน้ำกลางคืน ออกแบบเฉพาะโซนเด็กให้มาว่ายน้ำเล่นตอนเย็นอะไรอย่างนี้ครับ อาจจะเปิดคู่กับโรงเรียนสอนพิเศษประมาณแบบนั้น เป็นกึ่งๆ สปอร์ตคลับ แบบนี้จะตอบโจทย์ในการออกแบบได้ค่อนข้างดีกว่า การออกแบบสวนน้ำที่มีสไลเดอร์เยอะๆ
เห็นไหมครับว่าเรื่องพวกนี้จริงๆ แล้วจะมีทริคในการพิจารณาว่าเราควรจะออกแบบเป็นยังไง ไม่ใช่แบบเรามีสวนน้ำเราก็ออกแบบให้ใหญ่ๆ เข้าไว้ มีสไลด์เดอร์เยอะๆ เข้าไว้ ไม่ใช่นะครับ เราจะต้องมีการออกแบบที่สอดคล้องกับสภาพงานจริงๆ ในสภาพของเรา เพื่อให้ธุรกิจเราสามารถยืนได้อย่างยั่งยืน เดี๋ยวคราวหน้าเรามาดูกันเรื่องสวนน้ำในโรงแรม อันนี้แนะนำมาก ยอดฮิตสุดๆ จะพลาดไม่ได้เด็ดขาดนะครับ วันนี้แค่นี้ก่อนนะครับ สวัสดีครับ